วันที่ 24 พ.ค.60 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุม Convention Hall ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานแสดงนิทรรศการและกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ในภาคใต้” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ด้วยการศึกษาวิจัย ตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” รวมทั้งเพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม ผู้สนใจ ทั้งในพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงได้รับทราบถึงนโยบายของรัฐบาลโดยตรง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยมี นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ/เอกชน คณาจารย์ นักวิจัย บุคลากร นักศึกษาทั้งในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมงานประมาณ 1,600 โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงการจัดกิจกรรมวันนี้ว่าด้วยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยในเครือข่ายภาคใต้ เป็นมหาวิทยาลัยที่ขับเคลื่อนการศึกษาด้วยงานวิจัย และนวัตกรรมต่าง ๆ และเพื่อให้ผลงานเหล่านี้ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ช่วยพัฒนาต่อยอดขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบาย "ประเทศไทย 4.0" ของรัฐบาล ดังนั้นโอกาสที่นายกฯได้มากล่าวปาฐกถาเรื่อง "การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ในภาคใต้" เป็นการช่วยทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคมและ ผู้สนใจ ได้มีความเข้าใจหลักคิดมากขึ้น
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง“การขับเคลื่อนThailand 4.0 ในภาคใต้” ว่าเป็นเป้าหมายของคนไทยและประเทศไทยที่จะไปให้ถึงอนาคต ซึ่งคนไทยทุกคนจำเป็นต้องช่วยกัน และร่วมมือกันทำงานให้ไปถึงเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในวัยกำลังศึกษาในวันนี้ ซึ่งจะเป็นผู้ที่อยู่ในยุคของ Thailand 4.0 อย่างแท้จริงในวันข้างหน้า ทั้งนี้ Thailand 4.0 เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐบาลที่จะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยจากรูปแบบเดิม ไปสู่รูปแบบใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่มีรายได้สูงและกระจายไปสู่ทุกภาคส่วน โดยเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจเป็น “ทำน้อย ได้มาก” ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มุ่งสร้างสังคมคุณภาพ และมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รัฐบาลจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยเพื่อเปลี่ยนประเทศไปสู่ยุค Thailand 4.0 ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่ (New Engines of Growth) เป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น โดยเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้านวัตกรรม เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรแบบสมัยใหม่เน้นเรื่อง การบริหารจัดการและการนำเทคโนโลยีมาใช้ (Smart Farming) เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการก็เปลี่ยนจาก SMEs แบบเดิมไปสู่ Smart Enterprises และ Startup ที่มีศักยภาพสูง ในขณะที่แรงงานก็จะเปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและทักษะที่สูงขึ้น
ขณะเดียวกันรัฐบาลได้กำหนดให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยมีกรอบแนวทางที่สำคัญในยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ด้านการสร้างโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้าน การปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งได้ก่อตั้งมา และจะครบ 50 ปี ในปีหน้า ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ทศวรรษที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้ขับเคลื่อนการศึกษาทั้งด้วยงานวิจัยอันเป็นพื้นฐานในการทำให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวกับด้านการเกษตร เช่น นวัตกรรมยางพาราที่มีความโดดเด่น การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน อาหารทะเล พลังงาน และวัสดุชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลจะนำไปสู่การปฏิบัติให้มากขึ้น และขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาสู่การผลิตให้ได้ ซึ่งภาคใต้ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมีอัตลักษณ์ของตนเอง มีความโดดเด่นและความหลากหลายทางด้านศิลปวัฒนธรรม ความงดงามของสถานที่ท่องเที่ยว และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นความเข้มแข็งของภาคใต้ และสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล สิ่งสำคัญต้องสร้างความปลอดภัยเกิดขึ้นในพื้นที่ให้ได้ สร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง สร้างการพัฒนาและสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศเดินหน้าต่อไปได้